ผู้เขียนฮีบรูได้ใช้ภาพของการถวายบูชาของปุโรหิตในพระวิหาร เพื่ออธิบายให้เห็นถึงความจำกัดในเรื่องของระบบ ที่จะต้องมีการถวายบูชาลบบาปอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงแต่ของประชาชนอิสราเอลเท่านั้น แม้แต่ตัวของปุโรหิตก็ต้องถวายบูชาลบบาปของตัวเองเสียก่อน และต้องถวายบูชาอย่างนั้นอยู่เรื่อยๆ แถมถ้าจะเข้าไปถวายบูชาในห้องอภิสุทธิสถาน จะสามารถเข้าไปได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ผู้ที่เข้าจะต้องเป็นมหาปุโรหิต (ฮีบรู 9:1-10) แต่สำหรับพระเยซู พระองค์ไม่ได้เข้าไปปีละครั้ง แค่ครั้งเดียว และเพียงพอ

Q1  ทำไมพระเยซูจึงได้ชื่อว่า มหาปุโรหิตแห่งสิ่งประเสริฐ และพระองค์ถวายเครื่องบูชาเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ? (ดูข้อ 12, 14 และ 10:1-18 ประกอบ)
Q2  การถวายบูชาเพียงครั้งเดียวของพระเยซู ทำให้เราทั้งหลายที่เป็นผู้ที่เชื่อและวางใจในพระองค์ มีใจอยากจะรับใช้พระเจ้า (ข้อ 14) คุณคิดว่า คุณอยากมีส่วนรับใช้พระเจ้าในคริสตจักรอย่างไรบ้าง?

ผู้เขียนฮีบรูได้บอกกับเราว่า การถวายบูชาผ่านทางปุโรหิตในพระวิหารนั้นเป็นเสมือนเงาของสิ่งตามมาทีหลัง (8:3-4) และพันธสัญญาเดิมนั้นก็บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ (8:7) ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมี “พันธสัญญาใหม่”  เพื่อจะทำให้พันธสัญญาเดิมสมบูรณ์

Q1  “พันธสัญญาใหม่” ในมุมมองของผู้เขียนฮีบรูมีความหมายว่าอย่างไร? (ดูข้อ 6, 8-12 ประกอบ)
Q2 คุณดำเนินชีวิตวันนี้ภายใต้พันธสัญญาเดิม หรือภายใต้พันธสัญญาใหม่?

ผู้เขียนฮีบรูได้พูดถึงเมคคีเซเดคซึ่งเป็นปุโรหิตชั่วนิรันดร์ของพระเจ้า เป็นเหมือนบุตรของพระเจ้า ชื่อของท่านแปลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งความชอบธรรม และเป็กษัตริย์ของเมืองซาเลม ซึ่งแปลว่า สันติสุข ไม่มีใครรู้ว่า ท่านมาจากครอบครัวใด เกิดและตายเมื่อไร แต่ท่านเป็นผู้ที่อับราฮัมให้เกียรติ และถวายของหนึ่งในสิบให้แก่ท่านทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนอิสราเอล ไม่ใช่คนเผ่าเลวี ที่ควรจะได้รับทศางค์ (ฮีบรู 7:1-10)  และพระเยซูก็คือปุโรหิตของพระเจ้าที่เกิดขึ้นตามแบบอย่างของเมคคีเซเดค (ข้อ 15-19)

Q1  ผู้เขียนได้บรรยายถึงคุณลักษณะของพระเยซูในฐานะมหาปุโรหิตอย่างไร? (ดูข้อ 16, 21, 24-28ประกอบ)
Q2  คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่มหาปุโรหิต (พระเยซู) คนนี้เป็นผู้อธิษฐานทูลขอให้คุณได้รับความรอดจากพระเจ้าพระบิดา (ข้อ 25)?

แม้ว่าผู้เชื่อที่เป็นชาวยิว จะมีความสับสนเกี่ยวกับเรื่องความรอดที่มาทางพระเยซูคริสต์ กับการรักษาบัญญัติของโมเสส และพิธีกรรมต่างๆ แต่ผู้เขียนฮีบรูได้ชมเชยพวกเขาเกี่ยวกับ “ความรักที่พวกเขามี ที่แสดงออกมาเป็นการกระทำด้วยการปรนนิบัติรับใช้พี่น้องคนอื่นๆ” (ข้อ 10)

Q1  ทำไมผู้เขียนฮีบรูจึงบอกว่า พระเจ้าจะไม่ลืมการงานที่พวกเขาได้กระทำ (การรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก)? (ดูข้อ 13, 17, 18 ประกอบ)
Q2  “พระเจ้าจะไม่ตรัสมุสา” ความจริงในเรื่องนี้หนุนใจคุณอย่างไรในการทำงานรับใช้พระเจ้า?

ในฮีบรู 5:11-14 ผู้เขียนฮีบรูตอกย้ำอีกครั้งถึงความรู้ของผู้ที่เชื่อที่เป็นชาวยิวว่า ความรู้ที่พวกเขามี (ในพระคัมภีร์เดิม) ไม่ได้ช่วยให้เขาเติบโตขึ้นในความเชื่อกับพระเยซูคริสต์ แต่เรียกร้องให้พวกเขาโตขึ้นฝ่ายจิตวิญญาณ ผู้เขียนฮีบรูเรียกร้องให้พวกเขาอย่าหันหลังกลับไปมีความเชื่อแบบเดิมๆ ที่ว่า ความรอดที่จะมีมาทางความประพฤติ ทางพิธีกรรมต่างๆ อีก (ข้อ 1-4)

Q1  จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ที่เชื่อหันหลังให้กับความรอดที่มีมาทางพระเยซูคริสต์ และกลับไปเชื่อในการทำตามธรรมบัญญัติอีก? (ดูข้อ 6-8 ประกอบ)
Q2  คุณกำลัง “ตรึงพระเยซู และทำให้พระองค์ถูกดูหมิ่นเยาะเย้ย” ด้วยการดำเนินชีวิตวันนี้ตามใจของคุณอย่างไรบ้าง?

4050/5084